วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การออกแบบการเรียนรู้ทักษะด้านความสร้างสรรค์และนวัตกรรม


 
 (ที่มา : http://brandongaille.com/29-creative-thinking-exercises-on-how-to-be-creative/)
 
ขณะที่ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่ ผมเจอประเด็นที่น่าสนใจเลยนำมาให้อ่านกันครับ ผมเชื่อว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพครู/อาจารย์หลายท่านมาถูกทาง แต่ท่านที่ยังใช้วิธีการสอนแบบเดิมต้องเปิดใจและปรับเปลี่ยนกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนะครับ

โลกในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นโลกที่ไม่หยุดนิ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (และบางครั้งพลิกผัน) คนที่จะอยู่ได้อย่างสอดคล้องกับสังคมในยุคใหม่จึงต้องฝึกความสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งที่จริงมีอยู่แล้วในความเป็น

มนุษย์ แต่การเรียนรู้และการฝึกฝนที่ดีจะช่วยให้แหลมคม ฉับไว และอดทน คนที่มีทักษะนี้สูงจะได้งานที่ดีกว่า ชีวิตก้าวหน้ากว่าและจะทำประโยชน์ให้แก่สังคมและแก่โลกได้ดีกว่า ที่จริงโลกกำลังเปลี่ยนยุค จากยุคความรู้สู่ยุคนวัตกรรม การฝึกพลังสร้างสรรค์และนวัตกรรมจึงสำคัญยิ่ง และผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า การฝึกฝนนี้ ต้องทำตลอดชีวิต แต่น่าเสียดายว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันกลับเป็นตัวฆ่าพลังสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้วยการจัดการสอนแบบท่องจำ เน้นการอ่านเขียนและคิดเลข ดังวิดีโอใน YouTube ที่เสนอโดย เซอร์ เคนเนธ โรบินสัน (Sir Kenneth Robinson) ความผิดพลาดอย่างยิ่งของการศึกษา คือ การทำให้การทำผิดเป็นเสมือนสิ่งชั่วร้าย ท่าทีเช่นนี้มีผลลดทอนความ สร้างสรรค์ของเด็ก ความเข้าใจผิดที่จะต้องแก้คือ
คนมักคิดว่าความสร้างสรรค์เป็นเรื่องของอัจฉริยะซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีความสร้างสรรค์อยู่แล้วในรูปของจินตนาการ และการศึกษาต้องเพิ่มความสร้างสรรค์ของเด็กและของประชากรไทยทุกคน
ความเข้าใจผิดประการที่สองคือ คิดว่าความสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนอายุน้อย ซึ่งไม่จริงเสมอไป เขายกตัวอย่าง ปิกาสโซ่ (Picasso) จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่นั้น ประสบความสำเร็จตอนอายุมาก
และความเข้าใจผิดประการที่สามคือ คิดว่าความสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์เท่านั้น ในความเป็นจริงคือ มันเป็นทั้งพรสวรรค์และพรแสวง โรงเรียนสามารถฝึกฝนความสร้างสรรค์ให้เด็กได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการตั้งคำถาม มีความอดทนและเปิดกว้างต่อมุมมองแปลกๆ มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และเรียนรู้จากความผิดพลาดหรือความล้มเหลว
วิธีหนึ่งของการฝึกความสร้างสรรค์คือ การจัดแข่งขันโครงการออกแบบการออกแบบการเรียนรู้ทักษะการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ควรมีเป้าหมายและวิธีการ ดังต่อไปนี้
Ø เป้าหมาย : ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
·      ใช้เทคนิคสร้างมุมมองหลากหลายเทคนิค เช่น การระดมความคิด (brainstorming)
·      สร้างมุมมองแปลกใหม่ ทั้งที่เป็นการปรับปรุงเล็กน้อยจากของเดิม หรือเป็นหลักการที่แหวกแนวโดยสิ้นเชิง
·      ชักชวนกันทำความเข้าใจ ปรับปรุง วิเคราะห์ และประเมินมุมมองของตนเอง เพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับการคิดอย่างสร้างสรรค์

Ø เป้าหมาย : ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
·      พัฒนา ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารมุมมองใหม่กับผู้อื่นอยู่เสมอ
·      เปิดใจรับและตอบสนองต่อมุมมองใหม่ๆ หาทางได้ข้อคิดเห็นจากกลุ่ม รวมทั้งการประเมินผลงานจากกลุ่ม เพื่อนำไปปรับปรุง
·      ทำงานด้วยแนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ และเข้าใจข้อจำกัดของโลกในการยอมรับมุมมองใหม่
·      มองความล้มเหลวเป็นโอกาสเรียนรู้ เข้าใจว่าความสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นเรื่องระยะยาว เข้าใจวัฏจักรของความสำเร็จเล็ก ๆ และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆว่าจะนำไปสู่การสร้างสรรค์และนวัตกรรม
Ø เป้าหมาย : ประยุกต์สู่นวัตกรรม
·      ลงมือปฏิบัติตามความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม เป็นหัวใจสำหรับทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Skills) แต่ทักษะนี้ยังต้องมีทักษะอื่นมาประกอบและส่งเสริม อันได้แก่ทักษะอีก ๓ ด้าน คือ ด้านสารสนเทศ(information) ด้านสื่อ (media) และด้านดิจิตอล (digital literacy)
ที่มา : วิจารณ์ พาณิช. วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๕๕. หน้า ๓๓ – ๓๖


2 ความคิดเห็น:

  1. ผมยากทำโรงผลิตไฟฟ้าภายในชุมชนครับ ท่านอาจาร์ยมีแนวทางอย่างไหรบ้างครับผม

    ตอบลบ
  2. ประการแรกให้ดูศักยภาพของแหล่งพลังงานที่จะนำมาทำไฟฟ้าครับ ฐานที่ดีที่สุดคือพลังงานแสงอาทิตย์ (ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย ๒ ทาง) ที่เหลือก็อาจจะพิจารณาแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น พลังงานลม น้ำ ชีวมวล (ขยะและของเหลือใช้ทางเกษตร) ความร้อนใต้พิภพ และแก๊สชีวภาพ (จากขยะและของเหลือใช้ทางเกษตร เช่นกัน)

    ตอบลบ